วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2556

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย ตอนที่ 2

กลับมาต่อนะครับจากคราวที่แล้ว กับเรื่องราวของเครื่่องราชอิสริยาภรณ์ไทยนะครับ

------------------------------------

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยนั้น แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ตามวัตถุประสงค์ของประธานของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (เรียงตามลำดับศักดิ์) ดังนี้

  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานให้กับประมุขของรัฐ
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบในองค์พระมหากษัตริย์
  • เหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่ถือว่าเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ในวันนี้จะขอนำเสนอ 2 ประเภทแรกก่อนนะครับ :)

------------------------------------

เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานให้กับประมุขของรัฐ

ในประเภทนี้มีอยู่ชนิดเดียว นั่นคือ "เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์ ( Knight and Dame of the Most Auspicious Order of the Rajamitrabhorn)" ชื่อย่อคือ ร.ม.ภ. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งประเทศไทยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเมื่อพ.ศ. 2505 โดยเหตุที่ว่าได้มีการผูกสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงสมควรที่จะมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแก่ประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ โดยเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์จัดเป็นเครื่องราชอิสริยภรณ์ที่มีลำดับเกียรติสูงที่สุดของไทย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์

แพรแถบย่อ

------------------------------------

เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน

1. เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์

เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (The Most Illustrious Order of the Royal House of Chakri) ชื่อย่อคือ ม.จ.ก. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2425 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งพระมหากษัตริย์จะพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่สืบเนื่องโดยตรงในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหรือผู้ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ดังกล่าวได้เสกสมรส นอกจากนี้ ยังสามารถพระราชทานแก่ประมุขของต่างประเทศด้วย ก่อนที่จะมีการสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์
เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์
แพรแถบย่อ
2. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (อังกฤษ: The Ancient and Auspicious Order of the Nine Gems) ชื่อย่อคือ น.ร. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีความเป็นมาสืบแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างดารานพรัตนขึ้นสำหรับใช้ประดับที่เสื้อ เมื่อพ.ศ.2394 (ตามภาพบทความที่เสนอไปคราวที่แล้ว) นอกจากนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างแหวนนพรัตนสำหรับพระราชทานแก่พระราชวงศ์ฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดจนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นพุทธมามกะ ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างดวงตรามหานพรัตน สำหรับห้อยสายสะพายขึ้นเป็นครั้งแรกของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ มีเฉพาะชั้นสายสะพายชั้นเดียว ทั้งนี้ ผู้รับพระราชทานต้องเป็นพุทธมามกะ และจะประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ในงานมงคล หรืองานที่มีหมายกำหนดการระบุไว้เท่านั้น

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติเป็นลำดับที่ 3 รองจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์และเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่สามัญชนจะได้รับพระราชทาน

โดยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประเภทนี้จะแบ่งเป็นฝ่ายหน้า กับฝ่ายใน (แล้วต่างกันอย่างไร)

ฝ่ายหน้า คือ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารที่เป็นผู้ชาย มหาดเล็กทั้งหลาย ฝ่ายใน คือ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารที่เป็นผู้หญิง เช่น นางสนองพระโอษฐ์ เป็นต้น

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (ฝ่านหน้า)
แต่ฝ่ายในก็สามารถสวมใส่ได้ 
แพรแถบย่อ
เนื่องจากไม่มีภาพให้ชม จึงขออธิบายลักษณะของเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ (ฝ่ายใน) คร่าว ๆ ว่า ท่านลองนึกถึงแพรแถบของเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ แล้วผูกเป็นรูปแมลงปอ มีตรามหานพรัตน์ (ที่ห้อยอยู่ตรงสายสะพาย) ห้อยกับแพรแถบอยู่ด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้กับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
โดยเป็นสามัญชนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้รับพระราชทาน และเป็นสามัญชนคนเดียวเท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่

------------------------------------

ผู้เขียนตอนนี้เริ่มหมดแรงแล้ว พบกันใหม่ตอนที่ 3 นะครับ :)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น