วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2556

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย ตอนที่ 2

กลับมาต่อนะครับจากคราวที่แล้ว กับเรื่องราวของเครื่่องราชอิสริยาภรณ์ไทยนะครับ

------------------------------------

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยนั้น แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ตามวัตถุประสงค์ของประธานของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (เรียงตามลำดับศักดิ์) ดังนี้

  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานให้กับประมุขของรัฐ
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบในองค์พระมหากษัตริย์
  • เหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่ถือว่าเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ในวันนี้จะขอนำเสนอ 2 ประเภทแรกก่อนนะครับ :)

------------------------------------

เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานให้กับประมุขของรัฐ

ในประเภทนี้มีอยู่ชนิดเดียว นั่นคือ "เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์ ( Knight and Dame of the Most Auspicious Order of the Rajamitrabhorn)" ชื่อย่อคือ ร.ม.ภ. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งประเทศไทยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเมื่อพ.ศ. 2505 โดยเหตุที่ว่าได้มีการผูกสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงสมควรที่จะมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแก่ประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ โดยเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์จัดเป็นเครื่องราชอิสริยภรณ์ที่มีลำดับเกียรติสูงที่สุดของไทย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์

แพรแถบย่อ

------------------------------------

เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน

1. เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์

เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (The Most Illustrious Order of the Royal House of Chakri) ชื่อย่อคือ ม.จ.ก. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2425 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งพระมหากษัตริย์จะพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่สืบเนื่องโดยตรงในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหรือผู้ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ดังกล่าวได้เสกสมรส นอกจากนี้ ยังสามารถพระราชทานแก่ประมุขของต่างประเทศด้วย ก่อนที่จะมีการสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์
เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์
แพรแถบย่อ
2. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (อังกฤษ: The Ancient and Auspicious Order of the Nine Gems) ชื่อย่อคือ น.ร. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีความเป็นมาสืบแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างดารานพรัตนขึ้นสำหรับใช้ประดับที่เสื้อ เมื่อพ.ศ.2394 (ตามภาพบทความที่เสนอไปคราวที่แล้ว) นอกจากนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างแหวนนพรัตนสำหรับพระราชทานแก่พระราชวงศ์ฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดจนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นพุทธมามกะ ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างดวงตรามหานพรัตน สำหรับห้อยสายสะพายขึ้นเป็นครั้งแรกของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ มีเฉพาะชั้นสายสะพายชั้นเดียว ทั้งนี้ ผู้รับพระราชทานต้องเป็นพุทธมามกะ และจะประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ในงานมงคล หรืองานที่มีหมายกำหนดการระบุไว้เท่านั้น

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติเป็นลำดับที่ 3 รองจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์และเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่สามัญชนจะได้รับพระราชทาน

โดยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประเภทนี้จะแบ่งเป็นฝ่ายหน้า กับฝ่ายใน (แล้วต่างกันอย่างไร)

ฝ่ายหน้า คือ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารที่เป็นผู้ชาย มหาดเล็กทั้งหลาย ฝ่ายใน คือ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารที่เป็นผู้หญิง เช่น นางสนองพระโอษฐ์ เป็นต้น

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (ฝ่านหน้า)
แต่ฝ่ายในก็สามารถสวมใส่ได้ 
แพรแถบย่อ
เนื่องจากไม่มีภาพให้ชม จึงขออธิบายลักษณะของเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ (ฝ่ายใน) คร่าว ๆ ว่า ท่านลองนึกถึงแพรแถบของเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ แล้วผูกเป็นรูปแมลงปอ มีตรามหานพรัตน์ (ที่ห้อยอยู่ตรงสายสะพาย) ห้อยกับแพรแถบอยู่ด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้กับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
โดยเป็นสามัญชนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้รับพระราชทาน และเป็นสามัญชนคนเดียวเท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่

------------------------------------

ผู้เขียนตอนนี้เริ่มหมดแรงแล้ว พบกันใหม่ตอนที่ 3 นะครับ :)


วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

ลูกเสือสรรเสริญ

วันนี้ผมก็จะขอนำบทความที่ผมเขียนไว้ ลงในวารสาร "สามเสนสัมพันธ์" เกี่ยวข้องกับความภาคภูมิใจของผมเองในชีวิตลูกเสือของผมนะครับ
-------------------------------
กว่าจะเป็น...ลูกเสือสรรเสริญ
โดย...ชนาธิป อยู่จงดี
 ตัวผมเองเมื่อรับประทานเหรียญลูกเสือสรรเสริญ ชั้นที่ 3

เรียงจากคนที่สวมหมายไบเรต์สีแดงด้านซ้ายคนแรก
1. เป็นตัวแทน (พี่ชาย) ของเด็กชายอำพล อักสวง (เสียชีวิต) 
2. นายเธียรชัย มังคละทน
3. ตัวผู้เขียนเอง (สวมหมวกไบเรต์สีเขียว)
4. อาจารย์อำนาจ สายฉลาด (สวมหมวกปีก)
          ถ้าหากพูดถึงลูกเสือ หลาย ๆ ท่านอาจจะนึกถึงกิจกรรมว่าง กิจกรรมกลางแดด เมื่อเครื่องแบบที่ดูเป็นทางการคล้ายกับข้าราชการ ต้องเจอกับความร้อนระอุของแดดในยามบ่าย นอกจากนั้นแล้ว ประสบการณ์ต่าง ๆ ในค่ายลูกเสือที่ทั้งโหด มัน ฮา ทำให้หลาย ๆ ท่านยังจำประสบการณ์ที่ทั้งดีและไม่ดีเกี่ยวกับลูกเสือไว้มากมาย สิ่งที่หลาย ๆ ท่านได้รับรู้และประสบมา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของขบวนการลูกเสือ แต่ถ้าหากมองลึกลงไปในเนื้อแท้ของขบวนการลูกเสือหรือ Scout Movement นั่นคือ “การทำงานอาสาเพื่อส่วนรวม โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน” ดังความในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.๒๕๕๑ ที่กล่าวไว้ว่า
          “มาตรา ๘ คณะลูกเสือแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาลูกเสือทั้งทางกาย สติปัญญา จิตใจ และศีลธรรม ให้เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบ และช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสามัคคี และมีความเจริญก้าวหน้า ทั้งนี้ เพื่อความสงบสุข และความมั่นคงของประเทศชาติตามแนวทาง ดังต่อไปนี้
(๑)   ให้มีนิสัยในการสังเกต จดจำ เชื่อฟัง และพึ่งตนเอง
(๒)  ให้ซื่อสัตย์สุจริต มีระเบียบวินัยและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
(๓)  ให้รู้จักบำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์
(๔)  ให้รู้จักทำการฝีมือ และฝึกฝนให้ทำกิจการต่างๆ ตามความเหมาะสม
(๕)    ให้รู้จักรักษาและส่งเสริมจารีตประเพณี วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศชาติ
          ตัวของผมเองเมื่อเรียนกิจกรรมลูกเสือ (หรือที่ชาวสามเสนนิยมเรียกว่า “กิจกรรมสี่เหล่า”) ผมเองก็คิดเหมือนที่หลาย ๆ ท่านคิดเพราะมันทั้งร้อน รำคาญกับเครื่องแบบที่มันรุ่มร่ามมากมายทั้งผ้าผูกคอ วอลเกิ้ล ถุงเท้า พู่สีแดงเลือดหมู ฯลฯ จนบางครั้งผมต้องตื่นเช้าเป็นพิเศษเพื่อแต่งเครื่องแบบนี้ให้เรียบร้อย พอเรียน ๆ ไปก็มีพิธีวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ต้องมานั่งกลางแดด แล้วดูเพื่อนของเราเดินสวนสนาม และก็วันวชิราวุธอีก ต้องนั่งคุกเข่ากลางแดด แต่เมื่อผมได้สัมผัสขบวนการลูกเสืออย่างจริงจังแล้ว ผมรู้สึกว่า “มันต่างจากที่เราเห็นทั่วไปเป็นอย่างมาก” เพราะดังที่ผมได้กล่าวไว้เมื่อสักครู่ “ลูกเสือ คือ การทำงานอาสาเพื่อส่วนรวม โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
          เมื่อผมเข้ามาทำงานในกองลูกเสือพิเศษ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยกับอาจารย์ทายาท สุทธิ์เสงี่ยม
หรืออาจารย์ชิที่ผมนับถือ ครูศิลปะประจำโครงการการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ (แต่ ณ เวลาที่ผมได้เขียนบทความนี้ อาจารย์ทายาทได้ย้ายไปบรรจุชั่วคราวที่โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย) ผมก็เป็นพี่ใหญ่ที่สุดในกองลูกเสือเพราะได้เข้ามาในกองลูกเสือพิเศษ ฯ ตอนอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ผมเลยได้รับตำแหน่งเป็น “ประธานคณะกรรมการบริหารกองลูกเสือพิเศษ” ร่วมแรงร่วมใจกับอาจารย์ทายาทพาน้อง ๆ อีกนับหลายสิบชีวิตเดินไปสู่อุดมการณ์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ ผมได้ชวนน้อง ๆ ช่วยงานกิจกรรมในโรงเรียนและนอกโรงเรียนมากมายโดยเรียกกิจกรรมที่ช่วยเหลือบำเพ็ญประโยชน์ว่า “กิจกรรม
Volunteer Scout” ทั้งกิจกรรมอาสาจราจร กิจกรรมลูกเสือสวัสดิภาพนักเรียน ค่ายพัฒนาผู้นำลูกเสือ ฯลฯ 

           และแล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น...
          ในขณะที่ผมและนายเธียรชัย มังคละทน (ขออนุญาตเรียกว่า“เคส”) ซึ่งเป็นรุ่นน้องในกองลูกเสือพิเศษ ฯ ได้ไปรับประทานอาหารบริเวณสยามสแควร์ เพราะว่าวันนั้นเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ แล้วด้วยความบังเอิญอันใดก็ไม่ทราบ ผมกับเคสได้พบเจอผู้บาดเจ็บอยู่ ๒ คน คาดว่าน่าจะเพิ่งเกิดเหตุทะเลาะวิวาทมาหมาด ๆ
ในใจก็กล้า ๆ กลัว ๆ แต่ในที่สุด ผมกับเคสก็ได้ส่งผู้บาดเจ็บทั้ง ๒ คนเข้ารักษาตัว ณ โรงพยาบาลตำรวจและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จนผู้บาดเจ็บทั้ง ๒ คนมีอาการดีขึ้น ทางโรงเรียนจึงได้นำเรื่องนี้ไปรายงานแก่คณะลูกเสือแห่งชาติได้พิจารณาเพื่อรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “เหรียญลูกเสือสรรเสริญ”
          อนึ่ง เหรียญลูกเสือสรรเสริญเป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่มีศักดิ์เป็นเหรียญบำเหน็จราชการในแผ่นดิน เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์ตระกูลเดียวกับเหรียญราชการชายแดน เหรียญลูกเสือสรรเสริญจะพระราชทานให้แก่ลูกเสือ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ เจ้าหน้าที่ลูกเสือ ผู้ตรวจการลูกเสือและกรรมการลูกเสือที่กระทำความดีความชอบตามหลักเกณฑ์ในมาตรา ๕๗ ของพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.๒๕๕๑ ดังว่า
          “มาตรา ๕๗ เหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่หนึ่ง จะพระราชทานแก่ผู้มีความดี ความชอบซึ่งได้ทำการรักษาความปลอดภัยหรือสันติสุขเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์หรือได้ช่วยชีวิตผู้ตกอยู่ในอันตราย ทั้งนี้ โดยตนเองได้ฝ่าอันตรายจนถึงขนาดที่สมควรได้รับพระราชทานเหรียญนี้ หรือตนเองได้ประสบอันตรายถึงทุพพลภาพหรือถึงเสียชีวิต
          เหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่สอง จะพระราชทานแก่ผู้มีความดีความชอบซึ่งได้ช่วยชีวิตผู้ตกอยู่ในอันตรายโดยตนเองได้ประสบอันตรายหรือฝ่าอันตราย หรือแก่ผู้ซึ่งได้ทำความดีความชอบในข้อต่อไปนี้ ทุกข้อรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยครั้ง และในแต่ละข้อไม่น้อยกว่าสิบครั้ง คือ
(๑) ช่วยเหลือผู้ได้รับทุกข์ยากลำบากที่ควรช่วย
(๒) ช่วยเหลือหรือป้องกันผู้อื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่นให้พ้นอันตราย
(๓) ช่วยสัตว์ให้พ้นจากการทรมานหรือพ้นทุกขเวทนา
(๔) ทำการปฐมพยาบาล
(๕) ช่วยเหลือราชการ
(๖) ช่วยเหลือกิจการอันเป็นสาธารณกุศล
(๗) ช่วยเหลือผู้ปกครอง
(๘) ช่วยเหลือกิจการต่างๆ ของโรงเรียน หรือสถานที่ทำงานซึ่งไม่ใช่หน้าที่ตามปกติ
เหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่สาม จะพระราชทานแก่ผู้มีความดีความชอบซึ่งได้ช่วยชีวิตผู้ตกอยู่ในอันตรายแม้เพียงครั้งเดียว หรือแก่ผู้ซึ่งได้ทำความดีความชอบตามเกณฑ์สำหรับเหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่สอง ทุกข้อรวมกันไม่น้อยกว่าห้าสิบครั้งและในแต่ละข้อไม่น้อยกว่าห้าครั้ง
          หลังจากรายงานเข้าสู่คณะลูกเสือแห่งชาติแล้ว จะต้องมีการประชุมเพื่อรับทราบและพิจารณาจากหลักฐาน เมื่อเห็นสมควรแล้ว จึงนำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเหรียญลูกเสือสรรเสริญและรับพระราชทานในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติในวันที่ ๑ กรกฎาคม ของทุกปี
          ดังนั้นผู้ที่ได้รับเหรียญลูกเสือสรรเสริญในปี ๆ หนึ่งมีจำนวนน้อยมาก ดังเช่นปีนี้มีผู้ได้รับพระราชทานเพียง ๔ ท่าน และได้รับจากพระหัตถ์ของเจ้านายชั้นสูงอีกด้วย นับว่าเป็นเกียรติอันสูงสุดครั้งหนึ่งในชีวิตของคนที่ได้เป็นลูกเสือ
          และผมกับเคสก็ได้เป็นหนึ่งในนั้น
          สุดท้ายนี้ ผมขอทิ้งท้ายด้วยการอัญเชิญส่วนหนึ่งของพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในในพิธีปฏิญาณตนและสวนสนามเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ณ สนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๑๙ ดังนี้
          “...หลักการและจรรยาของคณะลูกเสือนั้น มิใช่จะเป็นประโยชน์หรือสิ่งสำคัญเฉพาะแก่ตัวลูกเสือฝ่ายเดียว หากแต่เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนทุกคนด้วย กล่าวแต่เฉพาะหลักการข้อที่สำคัญเพียงข้อเดียว คือการบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือผู้อื่น ก็จะเห็นว่ามีคุณค่ามหาศาลแล้ว เพราะการบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือกันเป็นปัจจัยที่จะสร้างสรรค์ความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน ความรักใคร่เผื่อแผ่ในกันและกัน ซึ่งในที่สุด จะก่อเกิดความมีสามัคคีเป็นปึกแผ่นในชาติขึ้น ความมีสามัคคีเป็นปึกแผ่นของคนทั้งชาติ ในอันที่จะช่วยเหลือสนับสนุนกันนี้ คือพลังอันใหญ่ยิ่ง ซึ่งจะช่วยให้เรารักษาความเป็นอิสระ ความมั่นคง ของชาติไทยและบ้านเมืองไทยของเราไว้ให้ยืนยงอยู่ตลอดไป...”

วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556

พูดถึง PAT 5 กับเลือกตั้งนิดนึง

วันนี้ (3 มี.ค.56) ผมละหัวหมุนกับ 2 เรื่อง 


อย่างแรกเลย ผมวุ่นกับการสอบ PAT 2 ในตอนเช้าและ PAT 5 ในตอนบ่าย นับว่าเป็นวันสุดท้ายของผมที่จะสอบละ ไม่ว่าคะแนนจะได้เท่าไหร่ ก็แล้วแต่บุญแต่กรรมแล้วละ เชื่ออยู่อย่างหนึ่งละว่าทำเต็มที่ละ (อะไรก็ไม่รู้)


อย่างที่สองวันนี้เป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่แออัด สกปรก เอาอยู่ ดราม่า ฯลฯ อีกมากมาย
บอกว่าดีกว่า กูให้เห็นมันจะดีขึ้นเลย...

ไม่รู้ว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายที่ผมดันมีสิทธิ์เลือกตั้งกับเขาด้วย...
เพราะอะำไรเหรอ?

วันนี้ผมสอบ PAT 2 ที่โรงเรียน (ย่านพระราม 6) พอสอบเสร็จ
ก็ต้องกลับบ้าน (แถวดอนเมือง) เพื่อไปเลือกตั้ง แล้วกลับมาสอบ PAT 5 ต่ออีก

สทศ.ก็ใจดีเหลือหลาย ให้เวลาพัก 3 ชั่วโมง
(น้ำตากูจะไหลแล้วคร้าบบบบ)

แทบจะเรียกได้ว่า "ต้องซิ่งสั่งตาย" ก็ว่าได้


พอไปถึงเสร็จ ผมก็ตรวจสอบชื่อ แล้วก็คิดว่าจะเลือกใครดี

กูเห็นแล้ว กูอยากจะเลือกโดยทันที! ไม่ยักรู้อีน้องเนยมันลงด้วย 5555+

สุดท้ายผมก็คิดได้ว่าผมเลือกใคร แล้วก็กินข้าวที่บ้านให้เรียบร้อยเลย แล้วก็ไปสอบต่อ 

ไอ้ที่ตื่นเต้นก็ตรงที่ว่า เผอิญเจอเพื่อนตรงสะพานควาย แล้วก็คุยเรื่องนโยบายของพรรคฟ้า กับพรรคแดง ผมก็คุยตรงไปตรงมา คุยตั้งแต่ป้ายรถเมล์ ยันขึ้นรถเมล์ จนถึงโรงเีรียน

ตอนคุยเรื่องการเมืองบนรถเมล์ กลัวบรรยากาศแบบนี้มาก

ก็ถึงโดยสวัสดิภาพ....
------------------------------------
ก่อนจะจากกันไปกับบทความนี้ เอาเฉลยข้อสอบ PAT 5 ที่เพิ่งสอบเสร็จมาเป็นน้ำจิ้มนิดหน่อย (จำได้แค่นี้)
  1. อัมพวาเป็นชุมชนเล็กๆ ตั้งอยู่ริมน้ำ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาสืบทอดกันมาช้านาน ในอดีต อัมพวาเคยเป็นศูนย์กลางการค้าขายทางน้ำที่คับคั่ง มีตลาดน้ำ เรือนแพ และบ้านเรือนปลูกขนานไปตามแนวคลอง ซึ่งมีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาสมัยนั้นเรียกกันว่า “บางช้าง” (แสดงว่าตลาดน้ำอัมพวามีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา)
  2. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้รับการยกย่องเป็น "บุคคลสำคัญของโลก" เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2505 เนื่องในโอกาส "ฉลองวันประสูติครบ 100 พรรษา" (เป็นพระองค์แรกและคนแรกของไทย)
  3. ฟิลิปปินส์เร็วกว่า GMT 8 ชั่วโมง แสดงว่า ฟิลิปปินส์เ็ร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง
  4. พงศ์เทพ เทพกาญจนา ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2555
  5. เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) ได้เกิดกรณีพิพาทเกาะเซ็งกะกุ (เกาะเตียวหยู) ระหว่าง "จีน" กับ "ญี่ปุ่น"
  6. พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐออสเตรีย และเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐสโลวัก
  7. ประเทศที่มีภูเขาไฟมากที่สุดในโลก คือ ประเทศอินโดนีเซีย
  8. รางวัลในระดับนานาชาติของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
    พ.ศ. 2529 - เหรียญทองคำอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญเพื่อเชิดชูเกียรตินักวิทยาศาสตร์ที่เป็นบุคคลตัวอย่างทางวิชาการ และการส่งเสริมงานด้านวิทยาศาสตร์ ทรงเป็นบุคคลที่ 3 ของโลกและเป็นนักวิทยาศาสตร์สตรีพระองค์แรกที่ได้รับรางวัลนี้ (เป็นรางวัลแรกของพระองค์)
  9. องค์การใน 4 ข้อนี้ ข้อใดมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด
  • ILO มีสมาชิก 185 ประเทศ (ทั้งหมดอยู่ใน UN)
  • ASEAN มีสมาชิก 10 ประเทศ
  • LAFTA (เขตการค้าเสรีลาตินอเมริกา) มี 14 ประเทศ อยู่ในภูมิภาคอเมริกากลางถึงอเมริกาใต้
  • G20 มี 20 ประเทศ เป็นประเทศชั้นนำด้านเศรษฐกิจ

2 วัน...ตัดสินชีวิตในมหา'ลัย

พูดตรง ๆ นะครับท่านผู้อ่าน สองวันที่ผ่านมา (2 - 3 มีนาคม 56) เป็นช่วงที่ผมจริงจังที่สุดในชีวิต เพราะเป็นวันที่มีการสอบ GAT/PAT (ก็คล้าย ๆ กับการสอบเอนทรานซ์สมัยก่อนนะครับ
หน่วยงานที่ออกข้อสอบได้ดีมว๊ากกกกกใน 3 โลก ต้องยกให้
สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (หน้า)

การสอบ GAT/PAT นอกจากจะคล้าย ๆ กับการสอบเอนทรานซ์แล้ว ยังคล้ายกับการสอบ TOEIC หรือ TOELF ซึ่งเมื่อสอบ GAT/PAT เรียบร้อยแล้ว ก็จะสามารถนำคะแนนไปยื่นสำหรับศึกษาต่อในมหาลัยได้ ทั้งการรับตรง การสอบโควต้าต่าง ๆ (คะแนนเขามีอายุ 2 ปีนะครับ) ในปี ๆ หนึ่งสามารถสอบได้ 2 รอบ โดยการสอบ GAT/PAT สามารถเลือกสอบได้ (ไม่จำเป็นต้องสอบหมด ไม่งั้นสติแตก!) ตามที่มหาลัยแต่ละที่ต้องการ ดังนี้

  • ความถนัดทั่วไป (หรือที่นิยมเรียกว่า "GAT") ข้อสอบจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 
  1. การอ่านจับใจความ ก็คือ อ่านเรื่องแล้ววิเคราะห์เรื่องว่าข้อความที่โจทย์กำหนดให้ สัมพันธ์กับข้อความอีกอันอย่างไร เท่านั้นเอง
  2. ภาษาอังฤษ ก็ประกอบด้วย Conversation (Dialogue), Vocabulary, Reading Comprehension, Error Analysis (Grammar)
    การสอบนั้นแลดูจะซีเรียสมากเลยทีเดียว = ="
  • ความถนัดทางวิชาชีพ (หรือที่นิยมเรียกว่า "PAT") จะแบ่งย่อยลงไปอีก 7 วิชา ดังนี้
  1. ความถนัดทางคณิตศาสตร์ (PAT 1) เป็นการสอบที่มีแต่คณิตศาสตร์เท่านั้น โดยส่วนมากเนื้อหาจะออกพวก Calculus เรขาคณิตวิเคราะห์ เมตริกซ์ เวกเตอร์ บลา ๆ ๆ (ซึ่งผมเองก็ทำไม่ได้หรอก) ปกติแล้ว ใครได้คะแนนเกินครึ่ง ก็ถือว่าเป็นยอดมนุษย์ เพราะยากเหลือทน
  2. ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ (PAT 2) เป็นการสอบที่มีแต่วิทยาศาสตร์ (จะขยายความเพื่อ - -) โดยแบ่งเนื้อหาการสอบ 5 ส่วน คือ ฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา, โลก ดาราศาสตร์และอวกาศ, ทักษะทางวิทยาศาสตร์ 
  3. ความถนัดทางวิศวกรรม (PAT 3) เป็นการสอบที่วัดแวววิศวกรรม จะมีการสอบวิชาฟิสิกส์ (โดยเฉพาะกลศาสตร์ สมบัติของสาร ไฟฟ้า) เคมี คณิตศาสตร์ (โดยเฉพาะสถิติ) และพวกมิติสัมพันธ์ ความถนัดเชิงช่าง เป็นต้น
  4. ความถนัดทางศิสถาปัตยกรรมศาสตร์ (PAT 4) เป็นการสอบที่เรียกว่าใครอยากวาดรูปก็ได้วาดสมใจ เพราะจะมีการสอบทั้งในความรู้ด้านการออกแบบ สถาปัตยกรรม และที่สำคัญมีการสอบวาดแบบในกระดาษคำตอบอีกด้วย (WTF!!!)
  5. ความถนัดวิชาชีพครู (PAT 5) เป็นการสอบที่ควรจะอินเทรนด์นิดนึงเพราะข้อสอบที่ออกจะเป็นพวกข่าวสารบ้านเมือง นอกจากนี้ยังมีในเรื่องมิติสัมพันธ์ อนุกรม ความคิดเชิงตรรกะ และความเป็นครู
  6. ความถนัดทางศิลปะ (PAT 6) เป็นการสอบที่อาจจะไม่ได้วาดรูปเหมือน PAT 4 แต่ก็สอบคล้าย ๆ กัน โดยเนื้อหาจะคลุมทั้งศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์
  7. ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ (PAT 7) เป็นการทดสอบความรู้ความเข้าใจด้านภาษา ทั้งคำศัพท์ หลักไวยากรณ์ สำนวน วัฒนธรรมต่าง ๆ โดยจัดสอบย่อยลงไปตามความถนัดของตนเอง ประกอบด้วย ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน อาหรับและบาลี (ก็งงว่าจะมีใครสอบอาหรับและบาลีไหม คห.ส่วนตัวนะ อย่าดราม่า)
"ข้อสอบ PAT มีเวลาให้ 3 ชั่วโมง สำหรับข้อสอบ GAT จะแบ่งเป็นส่วนละ 1 ชั่วโมง 30 นาที"

สุดท้ายนี้...ไม่ว่าผมจะได้เรียนที่ไหน สิ่งหนึ่งที่ผมอยากเป็นคือ "อยากเป็นครู" 

แต่สำหรับการสอบนี้ ผมให้ 3 พยางค์นะ...


เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย ตอนที่ 1

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ คือ เหรียญตราอันเป็นเครื่องประดับยศ โดยประมุขของรัฐเป็นผู้สร้างขึ้น เพื่อเป็นการแสดงถึงตำแหน่งหน้าที่ ยศถาบรรดาศักดิ์หรือความดีความชอบต่าง ๆ 

ในสมัยก่อน เครื่องหมายที่เป็นการแสดงถึงตำแหน่งหน้าที่ หรือยศถาบรรดาศักดิ์ จะอยู่ในรูปของเครื่องใช้อุปโภคบริโภคหรือเครื่องประดับ เช่น หีบทอง เชี่ยนหมาก พาน แหวน เสื้อคลุม เรียกว่า "เครื่องยศ"

เครื่องยศของเครื่องราชอิสรยาภรณ์ "ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.)

เมื่อมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ต้องเตรียมรับมือกับลัทธิจักรวรรดินิยมที่เริ่มแพร่เข้ามาสู่โลกตะวันออก รวมทั้งราชอาณาจักรสยาม ณ เวลานั้นด้วย พระองค์มีแนวพระราชดำริที่จะปฏิรูปบ้านเมืองไปสู่ความทันสมัย เพื่อไม่ให้เป็นข้ออ้างให้ชาวตะวันตกยึดบ้านยึดเมืองเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก และเหตุการณ์นี้เอง จึงกลายเป็น "จุดเปลี่ยนของเครื่องยศของสยาม" และได้ตกทอดมาถึงในปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้สร้างดาราติดเสื้อ โดยนำลายตราตำแหน่งมาทำลายดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้เรียกดาราเหล่านั้นว่า ตรา” 

ภายหลังจากที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างดาราไอยราพตเครื่องต้นในปี พ.ศ. 2400 แล้ว ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างดาราตราคชสีห์ ดารานพรัตน ดาราช้างเผือก ดารามหามงกุฎ เหรียญเฉลิมพระชันษาครบ 60 ปีบริบูรณ์ ดาราตราราชสีห์

ตราคชสีห์
ดารานพรัตน
ดาราช้างเผือก
ดารามงกุฎ
ดาราราชสีห์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยมีวิวัฒนาการมาตามลำดับ  เช่น
  • ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาให้เรียกเครื่องประดับสำหรับยศว่า "เครื่องราชอิสริยาภรณ์" เป็นครั้งแรกและทรงพระกรุณาให้มีสายสะพายประกอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตลอดจนให้มีประกาศนียบัตรกำกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ยกเว้นบางชั้นตราและบางชนิดที่ไม่มีประกาศนียบัตรกำกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แต่ก็จะต้องลงประกาศนามผู้ได้รับพระราชทานในราชกิจจานุเบกษา 
  • พระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์เพิ่มเติม ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงใช้สำหรับ พระราชทานเป็นเครื่องหมายแสดงเกียรติยศและบำเหน็จความชอบ สืบมาถึงปัจจุบัน
พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอกเปรม ติณณสูลานนท์
ประธานองคมนตรี ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประกอบด้วย
1. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณยิ่งนพรัตนราชวราภรณ์
2. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า (ฝ่ายหน้า)
3. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี (ชั้นเสนางคบดี)
4. เหรียญเรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 (ชั้นที่ 1)
5. เหรียญชัยสมรภูมิ (สงครามอินโดจีน)
6. เหรียญชัยสมรภูมิ (สงครามมหาเอเชียบูรพา)
7. เหรียญพิทักษ์เสรีชน (ชั้นที่ 1)
8.เหรียญที่ระลึกเนื่องในวโรกาสพิธีกาญจนาภิเษก (พ.ศ.2539)
9. เหรียญที่ระลึกเนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุ 6 รอบ (พ.ศ.2542)


แล้วเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของไทย แบ่งได้อย่างไร? 
มีอะไรบ้าง?
โปรดติดตามตอนต่อไป :)
แหล่งอ้างอิง