วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

ลูกเสือสรรเสริญ

วันนี้ผมก็จะขอนำบทความที่ผมเขียนไว้ ลงในวารสาร "สามเสนสัมพันธ์" เกี่ยวข้องกับความภาคภูมิใจของผมเองในชีวิตลูกเสือของผมนะครับ
-------------------------------
กว่าจะเป็น...ลูกเสือสรรเสริญ
โดย...ชนาธิป อยู่จงดี
 ตัวผมเองเมื่อรับประทานเหรียญลูกเสือสรรเสริญ ชั้นที่ 3

เรียงจากคนที่สวมหมายไบเรต์สีแดงด้านซ้ายคนแรก
1. เป็นตัวแทน (พี่ชาย) ของเด็กชายอำพล อักสวง (เสียชีวิต) 
2. นายเธียรชัย มังคละทน
3. ตัวผู้เขียนเอง (สวมหมวกไบเรต์สีเขียว)
4. อาจารย์อำนาจ สายฉลาด (สวมหมวกปีก)
          ถ้าหากพูดถึงลูกเสือ หลาย ๆ ท่านอาจจะนึกถึงกิจกรรมว่าง กิจกรรมกลางแดด เมื่อเครื่องแบบที่ดูเป็นทางการคล้ายกับข้าราชการ ต้องเจอกับความร้อนระอุของแดดในยามบ่าย นอกจากนั้นแล้ว ประสบการณ์ต่าง ๆ ในค่ายลูกเสือที่ทั้งโหด มัน ฮา ทำให้หลาย ๆ ท่านยังจำประสบการณ์ที่ทั้งดีและไม่ดีเกี่ยวกับลูกเสือไว้มากมาย สิ่งที่หลาย ๆ ท่านได้รับรู้และประสบมา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของขบวนการลูกเสือ แต่ถ้าหากมองลึกลงไปในเนื้อแท้ของขบวนการลูกเสือหรือ Scout Movement นั่นคือ “การทำงานอาสาเพื่อส่วนรวม โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน” ดังความในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.๒๕๕๑ ที่กล่าวไว้ว่า
          “มาตรา ๘ คณะลูกเสือแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาลูกเสือทั้งทางกาย สติปัญญา จิตใจ และศีลธรรม ให้เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบ และช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสามัคคี และมีความเจริญก้าวหน้า ทั้งนี้ เพื่อความสงบสุข และความมั่นคงของประเทศชาติตามแนวทาง ดังต่อไปนี้
(๑)   ให้มีนิสัยในการสังเกต จดจำ เชื่อฟัง และพึ่งตนเอง
(๒)  ให้ซื่อสัตย์สุจริต มีระเบียบวินัยและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
(๓)  ให้รู้จักบำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์
(๔)  ให้รู้จักทำการฝีมือ และฝึกฝนให้ทำกิจการต่างๆ ตามความเหมาะสม
(๕)    ให้รู้จักรักษาและส่งเสริมจารีตประเพณี วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศชาติ
          ตัวของผมเองเมื่อเรียนกิจกรรมลูกเสือ (หรือที่ชาวสามเสนนิยมเรียกว่า “กิจกรรมสี่เหล่า”) ผมเองก็คิดเหมือนที่หลาย ๆ ท่านคิดเพราะมันทั้งร้อน รำคาญกับเครื่องแบบที่มันรุ่มร่ามมากมายทั้งผ้าผูกคอ วอลเกิ้ล ถุงเท้า พู่สีแดงเลือดหมู ฯลฯ จนบางครั้งผมต้องตื่นเช้าเป็นพิเศษเพื่อแต่งเครื่องแบบนี้ให้เรียบร้อย พอเรียน ๆ ไปก็มีพิธีวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ต้องมานั่งกลางแดด แล้วดูเพื่อนของเราเดินสวนสนาม และก็วันวชิราวุธอีก ต้องนั่งคุกเข่ากลางแดด แต่เมื่อผมได้สัมผัสขบวนการลูกเสืออย่างจริงจังแล้ว ผมรู้สึกว่า “มันต่างจากที่เราเห็นทั่วไปเป็นอย่างมาก” เพราะดังที่ผมได้กล่าวไว้เมื่อสักครู่ “ลูกเสือ คือ การทำงานอาสาเพื่อส่วนรวม โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
          เมื่อผมเข้ามาทำงานในกองลูกเสือพิเศษ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยกับอาจารย์ทายาท สุทธิ์เสงี่ยม
หรืออาจารย์ชิที่ผมนับถือ ครูศิลปะประจำโครงการการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ (แต่ ณ เวลาที่ผมได้เขียนบทความนี้ อาจารย์ทายาทได้ย้ายไปบรรจุชั่วคราวที่โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย) ผมก็เป็นพี่ใหญ่ที่สุดในกองลูกเสือเพราะได้เข้ามาในกองลูกเสือพิเศษ ฯ ตอนอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ผมเลยได้รับตำแหน่งเป็น “ประธานคณะกรรมการบริหารกองลูกเสือพิเศษ” ร่วมแรงร่วมใจกับอาจารย์ทายาทพาน้อง ๆ อีกนับหลายสิบชีวิตเดินไปสู่อุดมการณ์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ ผมได้ชวนน้อง ๆ ช่วยงานกิจกรรมในโรงเรียนและนอกโรงเรียนมากมายโดยเรียกกิจกรรมที่ช่วยเหลือบำเพ็ญประโยชน์ว่า “กิจกรรม
Volunteer Scout” ทั้งกิจกรรมอาสาจราจร กิจกรรมลูกเสือสวัสดิภาพนักเรียน ค่ายพัฒนาผู้นำลูกเสือ ฯลฯ 

           และแล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น...
          ในขณะที่ผมและนายเธียรชัย มังคละทน (ขออนุญาตเรียกว่า“เคส”) ซึ่งเป็นรุ่นน้องในกองลูกเสือพิเศษ ฯ ได้ไปรับประทานอาหารบริเวณสยามสแควร์ เพราะว่าวันนั้นเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ แล้วด้วยความบังเอิญอันใดก็ไม่ทราบ ผมกับเคสได้พบเจอผู้บาดเจ็บอยู่ ๒ คน คาดว่าน่าจะเพิ่งเกิดเหตุทะเลาะวิวาทมาหมาด ๆ
ในใจก็กล้า ๆ กลัว ๆ แต่ในที่สุด ผมกับเคสก็ได้ส่งผู้บาดเจ็บทั้ง ๒ คนเข้ารักษาตัว ณ โรงพยาบาลตำรวจและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จนผู้บาดเจ็บทั้ง ๒ คนมีอาการดีขึ้น ทางโรงเรียนจึงได้นำเรื่องนี้ไปรายงานแก่คณะลูกเสือแห่งชาติได้พิจารณาเพื่อรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “เหรียญลูกเสือสรรเสริญ”
          อนึ่ง เหรียญลูกเสือสรรเสริญเป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่มีศักดิ์เป็นเหรียญบำเหน็จราชการในแผ่นดิน เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์ตระกูลเดียวกับเหรียญราชการชายแดน เหรียญลูกเสือสรรเสริญจะพระราชทานให้แก่ลูกเสือ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ เจ้าหน้าที่ลูกเสือ ผู้ตรวจการลูกเสือและกรรมการลูกเสือที่กระทำความดีความชอบตามหลักเกณฑ์ในมาตรา ๕๗ ของพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.๒๕๕๑ ดังว่า
          “มาตรา ๕๗ เหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่หนึ่ง จะพระราชทานแก่ผู้มีความดี ความชอบซึ่งได้ทำการรักษาความปลอดภัยหรือสันติสุขเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์หรือได้ช่วยชีวิตผู้ตกอยู่ในอันตราย ทั้งนี้ โดยตนเองได้ฝ่าอันตรายจนถึงขนาดที่สมควรได้รับพระราชทานเหรียญนี้ หรือตนเองได้ประสบอันตรายถึงทุพพลภาพหรือถึงเสียชีวิต
          เหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่สอง จะพระราชทานแก่ผู้มีความดีความชอบซึ่งได้ช่วยชีวิตผู้ตกอยู่ในอันตรายโดยตนเองได้ประสบอันตรายหรือฝ่าอันตราย หรือแก่ผู้ซึ่งได้ทำความดีความชอบในข้อต่อไปนี้ ทุกข้อรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยครั้ง และในแต่ละข้อไม่น้อยกว่าสิบครั้ง คือ
(๑) ช่วยเหลือผู้ได้รับทุกข์ยากลำบากที่ควรช่วย
(๒) ช่วยเหลือหรือป้องกันผู้อื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่นให้พ้นอันตราย
(๓) ช่วยสัตว์ให้พ้นจากการทรมานหรือพ้นทุกขเวทนา
(๔) ทำการปฐมพยาบาล
(๕) ช่วยเหลือราชการ
(๖) ช่วยเหลือกิจการอันเป็นสาธารณกุศล
(๗) ช่วยเหลือผู้ปกครอง
(๘) ช่วยเหลือกิจการต่างๆ ของโรงเรียน หรือสถานที่ทำงานซึ่งไม่ใช่หน้าที่ตามปกติ
เหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่สาม จะพระราชทานแก่ผู้มีความดีความชอบซึ่งได้ช่วยชีวิตผู้ตกอยู่ในอันตรายแม้เพียงครั้งเดียว หรือแก่ผู้ซึ่งได้ทำความดีความชอบตามเกณฑ์สำหรับเหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่สอง ทุกข้อรวมกันไม่น้อยกว่าห้าสิบครั้งและในแต่ละข้อไม่น้อยกว่าห้าครั้ง
          หลังจากรายงานเข้าสู่คณะลูกเสือแห่งชาติแล้ว จะต้องมีการประชุมเพื่อรับทราบและพิจารณาจากหลักฐาน เมื่อเห็นสมควรแล้ว จึงนำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเหรียญลูกเสือสรรเสริญและรับพระราชทานในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติในวันที่ ๑ กรกฎาคม ของทุกปี
          ดังนั้นผู้ที่ได้รับเหรียญลูกเสือสรรเสริญในปี ๆ หนึ่งมีจำนวนน้อยมาก ดังเช่นปีนี้มีผู้ได้รับพระราชทานเพียง ๔ ท่าน และได้รับจากพระหัตถ์ของเจ้านายชั้นสูงอีกด้วย นับว่าเป็นเกียรติอันสูงสุดครั้งหนึ่งในชีวิตของคนที่ได้เป็นลูกเสือ
          และผมกับเคสก็ได้เป็นหนึ่งในนั้น
          สุดท้ายนี้ ผมขอทิ้งท้ายด้วยการอัญเชิญส่วนหนึ่งของพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในในพิธีปฏิญาณตนและสวนสนามเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ณ สนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๑๙ ดังนี้
          “...หลักการและจรรยาของคณะลูกเสือนั้น มิใช่จะเป็นประโยชน์หรือสิ่งสำคัญเฉพาะแก่ตัวลูกเสือฝ่ายเดียว หากแต่เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนทุกคนด้วย กล่าวแต่เฉพาะหลักการข้อที่สำคัญเพียงข้อเดียว คือการบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือผู้อื่น ก็จะเห็นว่ามีคุณค่ามหาศาลแล้ว เพราะการบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือกันเป็นปัจจัยที่จะสร้างสรรค์ความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน ความรักใคร่เผื่อแผ่ในกันและกัน ซึ่งในที่สุด จะก่อเกิดความมีสามัคคีเป็นปึกแผ่นในชาติขึ้น ความมีสามัคคีเป็นปึกแผ่นของคนทั้งชาติ ในอันที่จะช่วยเหลือสนับสนุนกันนี้ คือพลังอันใหญ่ยิ่ง ซึ่งจะช่วยให้เรารักษาความเป็นอิสระ ความมั่นคง ของชาติไทยและบ้านเมืองไทยของเราไว้ให้ยืนยงอยู่ตลอดไป...”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น